Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

netbook "นอกจอ" แต่ไม่นอกใจ + ไวรัส ตอน ถอดรหัส _ไวรัสคอมพิวเตอร์_

netbook "นอกจอ" แต่ไม่นอกใจ

ผู้ใช้เน็ตบุ๊กที่รู้สึกว่า หน้าจอของเครื่องที่ใช้เล็กเกินไปสำหรับงานบางงาน แม้บางรุ่นจะสามารถเพิ่มความละเอียดได้สูง แต่มันกลับยิ่งทำให้ไอคอนต่างๆ ตลอดจนตัวหนังสือที่แสดงผลบนหน้าจอเล็กเกินไปจนอ่านลำบาก วันนี้ผมมีไอเดียที่น่าสนใจมาฝากทุกท่านครับ

สำหรับไอเดียทีว่านี้ คือ เน็ตบุ๊กส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับช่องต่อสำหรับจอภายนอก ซึ่งหากคุณมีมอนิเตอร์ขนาดใหญ่อยู่ที่บ้าน และต้องการพื้นที่ในการทำงานบนหน้าจอทีมากพอจนสามารถใช้งานที่ความละเอียดสูงๆ เพื่อจะได้เห็นเนื้องานเต็มตา โดยไม่ต้องทนจ้องดูตัวหนังสือ หรือไอคอนต่างๆ ที่เล็กจนแทบจิ้มไม่โดนบนเน็ตบุ๊กอีกต่อไป ลองใช้ฟังก์ชันนี้ดู ไหนๆ มันก็ติดมากับเครื่องตั้งแต่ตอนที่ซื้อมาแล้ว...

ตัวอย่างในที่นี้จะใช้เน็ตบุ๊กของโตชิบารุ่น NB205 ที่มาพร้อมกับชิปเซตสำหรับการแสดงผลกราฟิก Intel GMA 950 สามารถตั้งความละเอียดในการแสดงผลได้สูงสุดถึง 2048x1536 ที่จำนวนสี 32 บิต แน่นอนว่า ถ้าแสดงผลที่ความละเอียดระดับนี้บนหน้าจอเน็ตบุ๊ก ทุกอย่างที่เห็นบนเดสก์ทอปคงจะเล็กมากๆ แต่คุณสามารถเล่นที่ความละเอียดระดับนี้ หรือต่ำกว่านิดหน่อยได้ด้วยการเชื่อมต่อกับมอนิเตอร์ภายนอกขนาด 17 นิ้วขึ้นไปได้ คราวนี้คุณก็สามารถใช้ประโยชน์จากเน็ตบุ๊กตัวเล็กๆ ของคุณได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ผมเชื่อเหลือเกินว่า เจ้าของเครื่องหลายๆ คน อาจจะลืมนึกถึงเรื่องนี้ไป และยอมทนที่จะจ้องจอขนาดเล็ก (1024x600 บนจอ 10 นิ้ว) กับงานที่ต้องอาศัยความละเอียดในการตรวจสอบ คำแนะนำนี้น่าจะทำให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับการที่มีพอร์ตต่อกับจอภายนอกมาให้ด้วย








ไวรัส ตอน ถอดรหัส _ไวรัสคอมพิวเตอร์_

ในขณะที่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและเน็ตบุ๊กกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นมือใหม่ (หรือแม้แต่ผู้ใช้ที่มีประสบการณ์แล้วก็ตาม) ที่ต้องการความคล่องตัวในการใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ทุกเวลา

ทั้งระบบไร้สาย (Wi-Fi) และใช้สาย (Ethernet) แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปก็คือ ภัยเงียบจากการถูกโจมตีโดยเหล่าวายร้ายที่เรียกว่า ไวรัสคอมพิเตอร์ซึ่งแพร่กระจายอยู่ดาษดื่นรอคอยเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายบนอินเทอร์เน็ต จากสถิติที่ได้ยินแล้วต้องอึ้งไปตามๆ กันก็คือ เพียงแค่ 5 นาทีหลังจากเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ไม่ได้รับการติดตั้งโปรแกรมป้องกันใดๆ เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นก็อาจติด ไวรัสได้แล้ว และที่น่ากลัวยิ่งกว่าก็คือ นอกจากไวรัส พวกมันยังมีผองเพื่อนมากมายที่คอยจ้องป่วนการทำงานของระบบ ลบไฟล์สำคัญ ขยันใช้เครื่องส่งสแปม ตลอดจนสอดแนมการใช้งาน พาลไปจนถึงล้วงความลับ ขโมยข้อมูลสำคัญ หมายเลขบัตรเครดิต- บัญชีธนาคาร...และอีกสารพัดความเลวร้ายที่พวกมันทำได้ หากผู้ใช้ไม่รู้จักระมัดระวังก็อาจตกเป็นเหยื่อวายร้ายเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งการป้องกันถือว่าเป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด และง่ายกว่าการแก้ไขหลายร้อยเท่า...เชื่อผมเถอะ

สำหรับเกาเหลาไวรัสฉบับแรกนี้ นอกจากจะเป็นการแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักเหล่าวายร้ายไวรัสคอมพิวเตอร์แล้ว ยังจะได้แนะนำถึงวิธีป้องกันในขั้นต้น ตลอดจนการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี!!! พี่น้องครับ...(วลีคุ้นๆ แฮะ) ถึงเวลาแล้วครับที่จะต้องดูแลคอมพิวเตอร์ของคุณให้พ้นจากวายร้ายไม่พึงประสงค์เหล่านี้ ขอย้ำกับพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง...เราเตือน...ท่านแล้ว

อินเทอร์เน็ตต่อปุ๊บติด(ไวรัส)ปั๊บ!!!

ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็นเดสก์ทอป โน้ตบุ๊ก หรือเน็ตบุ๊ก ล้วนมีโอกาสที่จะติดไวรัสได้ง่ายมาก โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่เครื่องคอมพิวเตอร์มีการเชื่อมต่อกันไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะแค่ในออฟฟิศเท่านั้น การแพร่สะพัดของไวรัสจึงเกิดขึ้นได้ง่าย แค่ปลายนิ้วสัมผัสของผู้ใช้ก็ติดได้แล้ว ซึ่งจากสถิติล่าสุดก็คือ ภายใน 5 นาทีที่คุณเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่เข้าสู่อินเทอร์เน็ต คอมพ์ของคุณก็อาจจะโดนไวรัส หรือภัยร้ายต่างๆ เข้าเล่นงานได้แล้ว นี่ยังไม่นับรวมถึงการแชร์ไฟล์ระหว่างกันด้วยแฟลชไดรฟ์ที่ไม่ต้องพึ่งเน็ตก็ติดได้ แถมยังแพร่กระจายส่งต่อกันง่ายอีกด้วย


ไฮสปีดอินเทอร์เน็ตทางด่วนไวรัส

สมัยก่อนมีการใช้คำแทนอินเทอร์เน็ตว่า ทางด่วนข้อมูลแต่นายเกาหลาคิดว่า วันนี้อาจจะต้องเรียกมันใหม่ว่าเป็น ทางด่วนไวรัส ซะแล้ว เพราะด้วยความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลทำให้โปรแกรมวายร้ายที่แพร่กระจายอยู่ในเน็ต สามารถดาวน์โหลดตัวเองเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์(ที่ไม่ได้รับการป้องกัน)ได้สำเร็จภายในอึดใจ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเดินทางเข้ามาของพวกมันไม่ได้แค่มาขอพักอาศัยใบบุญบนฮาร์ดดิสก์เฉยๆ แต่พวกมันเป็นอันธพาลที่ชอบสร้างความวุ่นวายให้กับระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ของคุณต่างหาก
เบาะๆ ก็อาจจะแค่ทำให้คอมพ์ของคุณทำงานเชื่องช้าเหมือนเต่า หรือไม่ก็แช่แข็งระบบปฏิบัติการให้แน่นิ่งจนต้องรีบู๊ต(แต่แล้วก็กลับมาเป็นอีก แล้วก็ต้องบู๊ตซ้ำอีก) เลวร้ายขึ้นมาอีกนิดก็ลบไฟล์สำคัญจนทำให้เครื่องบู๊ตไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการกันใหม่ นอกจากรูปแบบการโจมตีเหล่านี้แล้ว มันยังมีเพื่อนฝูงที่มีนิสัยขี้ขโมยชอบล้วงความลับ ข้อมูลสำคัญต่างๆ ไปส่งให้นายมัน หรือแม้แต่ขู่กรรโชกให้คุณยอมโอนเงิน เพื่อปลดล็อคระบบการทำงานของเครื่องได้อีกด้วย ซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้สามารถเข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณที่เชื่อมต่ออยู่บนเน็ตได้ตลอดเวลา...เรียกได้ว่า เผลอเป็นโดน!!! อย่างแน่นอน...

ช่องทางจู่โจมเพียบ!

คุณผู้อ่านหลายคนอาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยเล็กๆ กับการที่ผมบอกว่าต่อปุ๊บติดปั๊บเพราะมันไม่น่าจะง่ายนัก กับการที่ผู้ใช้จะติดไวรัส หรือโดนเล่นงานจากผองเพื่อนของพวกมันได้อย่างรวดเร็ว อย่ามาขู่กันดีกว่าเลย!!! อันนี้ผมไม่บังคับให้เชื่อเลยครับ แต่เหตุผลสำคัญที่อยากให้คุณผู้อ่านได้ตระหนักไว้ก็คือ ช่องทางในการที่เหล่าร้ายจะบุกรุกเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของคุณนั้น มีอยู่มากมายคณานับกันเลยทีเดียว ผมลองนึกดูเล่นๆ ก็ปาเข้าไป 10 ช่องทางแล้ว

ระบบปฏิบัติการมีช่องโหว่ โดยเฉพาะผู้ใช้ Windows 98/XP และ Vista

เผลอ(หรือตั้งใจ)ท่องเข้าไปในเว็บสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งมักจะมีไวรัสที่สามารถผ่านช่องโหว่ใน IE/Firefox ได้

เปิดแชร์ไดรฟ์ด้วยรหัสผ่านที่อ่อนแอ ประเภท 12345, password หรือ abc123 เลิกเถอะ!!!

ชอบเปิดไฟล์แนบที่มากับอีเมล์จากไผก็บ่ฮู้...คำแก้ตัวยอดฮิตก็ใครจะไปรู้ล่ะว่ามันจะมีไวรัส

ขี้สงสัย...ชอบคลิกลิงค์ที่จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาใน MSN Messenger

ชอบดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้ง แบบว่า...ชอบลองของ...เลยโดนซะ

ซอฟต์แวร์เถื่อนที่มีให้ดาวน์โหลดเกลื่อนบนเน็ต มักจะมาพร้อมของแถม(ที่เราไม่ต้องการ)

เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อเน็ตทิ้งไว้นานๆ จนผู้ไม่หวังดีบนเน็ตพบช่องทางเจาะเข้าไปได้

เปิดกรอบแสดงจดหมาย( preview pane) ใน Outlook หรือ OE ถ้าเป็นเมล์อันตราย ก็โดนเล่นงานทันที

โปรแกรมป้องกันไวรัสที่ใช้หมดอายุ หรือไม่ได้อัพเดต หรือแย่กว่านั้นคือ ไม่ได้ติดตั้ง

นี่ขนาดยังไม่นับรวมช่องทางที่ไม่ได้ติดไวรัสทางอินเทอร์เน็ตนะเนี่ย เชื่อขนมกินได้เลยว่า ใน 10 ข้อนี้ต้องโดนนิสัยใครหลายๆ คนที่กำลังอ่านอยู่เป็นแน่ และผมก็เชื่อว่า บางข้อ...คุณก็อาจจะเพิ่งถึง บางอ้อ...เป็นอย่างนี้เองน่ะรึ อย่างแน่นอน เพราะก่อนที่ผมจะนำมาเล่าให้ฟังได้อย่างนี้...ก็โดนมาก่อนเหมือนกัน แฮะๆ

ป้องกัน+ไม่ประมาท = ปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีใครเลือกวิธีใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัยด้วยการเลิกต่อเน็ตกันไปเลย ในเมื่อชีวิตปัจจุบัน คุณต้องอยู่กับสองสิ่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สู้เรามาทำความรู้จักกับมัน เพื่อหาวิธีป้องกัน และไม่ประมาทในการใช้คอมพิวเตอร์ท่องเน็ต คุณผู้อ่านจะได้หลุดรอดปลอดพ้นจากภัยร้ายเหล่านี้ไม่ดีกว่า...หรือครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น